บทความประชาสัมพันธ์ เชฟรอน-SPRC จุดพลังอาสา ฟื้นฟูป่าชายเลนระยอง สู่ก้าวต่อไปของโครงการ Foster Future Forests

smiling volunteers gathered, ready to take a group photo

สองมือของพนักงานเชฟรอนและ SPRC กว่า 100 ชีวิต ซึ่งกำลังนำเมล็ดพันธุ์ไม้ที่เก็บได้จากป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ จังหวัดระยอง มาเพาะเป็นกล้าไม้กว่าหลายร้อยต้นร่วมกับนักวิชาการ และกลุ่มชุมชนท้องถิ่นในชุมชนปากน้ำ สะท้อนพลังความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ซึ่งโยงใยสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ไปจนถึงภาคประชาสังคม โดยสองมือที่เปื้อนผืนดินอยู่นี้ ได้ส่งต่อความภาคภูมิใจของทั้งพนักงานและชุมชนในฐานะส่วนหนึ่งของการสร้าง “ป่าชายเลนใจกลางเมือง” ของจังหวัดระยองที่จะเติบใหญ่ในทศวรรษข้างหน้า และกลายเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต

ในทุกๆ ปี เชฟรอนได้จัดกิจกรรมจิตอาสาเพื่อปลูกฝังให้พนักงานมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งต่อ “พลังใจ” สู่สังคมอยู่เสมอ โดยกิจกรรม Together We Volunteer “อาสาเรียนรู้ ลงมือทำ” ล่าสุด เชฟรอนได้พาเหล่าพนักงานจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด พร้อมด้วย บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) ในฐานะ One Team ไปยังพื้นที่โครงการ “เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย” (Foster Future Forests) ที่ได้เปิดตัวโครงการไปเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อมุ่งฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ 100 ไร่ โดยเป็นป่าที่มีลักษณะโดดเด่น เพราะมีระบบนิเวศถึง 3 แบบในพื้นที่เดียว ทั้ง ป่าชายเลน ป่าชายหาด และป่าพรุ ซึ่งยังไม่ได้รับการพัฒนาในบริเวณป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมต่อยอดโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างอาชีพให้ชุมชนในระยะยาวผ่านแนวทางแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) ซึ่งได้ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และจังหวัดระยอง ร่วมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ รวมถึงชุมชนในจังหวัดระยอง เพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวสู่ต้นแบบของการฟื้นฟูระบบนิเวศในอนาคต

 

“เมื่อดูเผินๆ แล้ว กิจกรรมดังกล่าวอาจดูเป็นเพียงการพาพนักงานและชุมชนมาปลูกป่าร่วมกัน แต่เบื้องหลังกว่าจะมาถึงกระบวนการนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาระบบนิเวศของป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำในด้านพืชพรรณ สัตว์ป่า เพื่อประเมินพื้นที่ปลูกป่าจากการศึกษาทางด้านกายภาพ และชีวภาพ วิเคราะห์คุณภาพดิน และการเลือกใช้พืชพื้นท้องถิ่นเข้ามาปลูก รวมถึงประเมินความเสี่ยง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายของพืชและสัตว์ รวมถึงความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ที่ช่วยให้ทีมสำรวจวางแผนการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม ก่อนเดินหน้าสู่ก้าวต่อไปของโครงการ Foster Future Forests ในการเปิดให้พนักงาน ชุมชน และนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการประเมินคาร์บอนเครดิตร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก” รองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย จากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกระบวนการศึกษาและวางแผนโครงการเติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย พร้อมเล่าเบื้องหลังของกิจกรรมปลูกป่าครั้งนี้ว่า

“ป่าชายเลนมีความสำคัญอย่างมากในเป้าหมาย Net Zero  เนื่องจากสามารถดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละกว่า 9.4 ตันต่อไร่ ดังนั้นเป้าหมายของเราคือการฟื้นฟูความหลากหลายของระบบนิเวศป่าชายเลนให้สมบูรณ์ในพื้นที่โครงการฯ แต่การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ใช่เพียงแต่เอาเมล็ดพันธุ์ใดก็ได้ หรือซื้อต้นไม้มาเพาะกล้าเป็นป่า เพราะป่า  แต่ละชนิดมีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ทำให้มีวิธีฟื้นฟูต่างกันไปด้วย ดังนั้นเราจึงได้ออกแบบกิจกรรมโดยเริ่มต้นจากการให้พนักงานทำความรู้จักป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำก่อน ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ หลังจากนั้นจึงช่วยเก็บเมล็ดพันธุ์พืชดั้งเดิมในป่า และนำเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่นที่ได้มาเพาะกล้าไม้ เนื่องจากพืชพื้นถิ่นจะมีพันธุกรรมที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ และมีความสามารถในการปรับตัวและเจริญเติบโตสูง โดยเน้นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี มาจากแม่ไม้ที่สมบูรณ์ มีอัตราการรอดตายสูง มีความต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี และสามารถดึงดูดสิ่งมีชีวิตเข้ามาในพื้นที่เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์หรือเอื้ออำนวยให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพต่อไป”

พนักงาน รวมถึงชุมชนในพื้นที่ต่างตั้งใจฟังวิทยากรเล่าถึงความสำคัญของป่าชายเลนด้วยใจจดจ่อท่ามกลางเสียงธรรมชาติบริเวณพื้นที่พระเจดีย์กลางน้ำ โดยค่อยๆ บรรจงหยอดเมล็ดพันธุ์ที่เก็บได้มาปลูกป่าชายเลนกลางเมืองผ่านความเข้าใจถ่องแท้เกี่ยวกับความสำคัญของการฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยกล้าไม้ 1 ต้นนี้ จะเติบโตและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ยถึง 9-15 กิโลกรัมต่อปี นอกจากเมล็ดพันธุ์ที่เก็บมาได้จากในป่าแล้ว กิจกรรม Together We Volunteer ในวันนี้ยังเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ให้นำใบไม้หรือดอกไม้ที่เก็บได้จากในป่า มาใช้ทำงานศิลปะที่ออกแบบได้ด้วยตนเอง Eco Printing หรือชุบชีวิตเสื้อเก่าที่แต่ละคนได้นำมาจากบ้าน เพื่อปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ผ่านการเปลี่ยนผ้าผืนเก่าให้แต่งแต้มลวดลายจากธรรมชาติเสมือนได้ตัวใหม่ โดยนอกจากจะเสริมแนวคิดในการนำของที่ไม่ใช้มาสร้างประโยชน์ใหม่แล้ว ยังถือเป็นการเสริมทักษะอาชีพให้แก่ชุมชนระยองที่เข้าร่วมในกิจกรรมอีกด้วย

“ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นหัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืน” มร.โรเบิร์ต โดบริค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)  เน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่เริ่มวางแผนโครงการ เพื่อนำความต้องการของชุมชนไปพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการฯ รับฟังความต้องการของชุมชนในการอนุรักษ์ทุ่งดอกดองดึง โดยล่าสุดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแถลงความคืบหน้าของโครงการฯ  พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพและคาร์บอนเครดิต  เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับชุมชน ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำระยองและป่า   ชายเลน ชุมชนเนินพระ วิสาหกิจท่องเที่ยวตำบลปากน้ำ ไปจนถึงวิสาหกิจชุมชนประมงเรือเล็กเก้ายอด มุ่งสู่การพัฒนาที่ตอบโจทย์ชุมชนอย่างแท้จริงและเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม

ด้าน นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ชูจุดเด่นสำคัญของโครงการ ที่ส่งเสริมด้านงานวิจัยผ่านการศึกษาและเรียนรู้จากธรรมชาติ (Nature-based learning) ว่า “ทุกโครงการเพื่อสังคมของเราเน้นการสร้างประโยชน์ในระยะยาวให้ชุมชน และให้ความสำคัญกับการวางแผนโครงการผ่านข้อมูลที่วัดผลได้อยู่เสมอ โดยสำหรับโครงการเติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย เราผสานเครือข่ายด้านวิชาการที่แข็งแกร่ง ตั้งแต่สมาคมส่งเสริมพัฒนากำลังคนสเตมเพื่ออนาคต (IAFSW) คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เพื่อวางแผนดำเนินการที่เหมาะสมผ่านการใช้ธรรมชาติเป็นฐาน ศึกษาพื้นที่โดยละเอียด  พร้อมผสานเทคโนโลยีมาช่วยวัดผลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้สู่ต้นแบบการบริหารจัดการป่าในเมืองของประเทศไทย นอกจากนี้ เรายังวางแผนยกระดับสร้างการรับรู้ในวงกว้างขึ้นผ่านความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และภาควิชาการ เพื่อสื่อสารโครงการผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ Green Ambassador เพื่อเน้นย้ำด้านความยั่งยืน และการประกวดภาพถ่ายแมลง เพื่อชูความหลากหลายและบทบาทของแมลงในระบบนิเวศ ไปจนถึงกิจกรรม Together We Volunteer ในวันนี้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง ‘พลังอนุรักษ์’ ซึ่งเป็นก้าวต่อไปที่สำคัญของโครงการฯ ในความคืบหน้าของการสร้างป่าชายเลนกลางเมืองให้สำเร็จ”

เหล่ากล้าไม้ที่พนักงาน และชุมชนกว่าหลายร้อยชีวิตเพาะปลูกในวันนี้  ได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการอนุรักษ์สู่สองมือที่ได้ร่วมกันสร้างอนาคตของป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำติดตัวสู่ผู้ร่วมกิจกรรมกลับไป โดยแม้ต้นกล้าเหล่านั้นจะยังโผล่ขึ้นไม่พ้นจากผืนดิน แต่ก็ได้สร้างความหวังใหม่ในก้าวต่อไปของโครงการเติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย โดยในอนาคตโครงการฯ มีแผนเปิดพื้นที่ดังกล่าวให้หลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อศึกษาและพลิกผืนดินสู่แหล่งเรียนรู้ด้านป่าชายเลนที่สำคัญของจังหวัดระยองในอนาคตต่อไป

a group of people walking through lush green field