บทความประชาสัมพันธ์ 60 ปี เชฟรอนประเทศไทย
เส้นทาง 6 ทศวรรษสู่บริษัทพลังงานเคียงคู่คนไทย
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2505 นับเป็นการเดินทางก้าวแรกในประเทศไทยของเชฟรอน โดยถือเป็นบริษัทพลังงานแห่งแรกที่ได้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในประเทศจากรัฐบาล ซึ่งการสำรวจในช่วงยุคบุกเบิกนั้นเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ด้วยความมั่งมุ่นศึกษาสภาพธรณีวิทยาที่ซับซ้อนของอ่าวไทยจนเกิดความเชี่ยวชาญ และการไม่หยุดยั้งพัฒนาเทคโนโลยีที่สอดรับกับสภาพพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อีกสิบเอ็ดปีต่อมา เชฟรอนได้ประสบความสำเร็จในการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นครั้งแรก และได้เริ่มพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์ในปี 2524 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสู่ยุค “โชติช่วงชัชวาล” ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้มากขึ้น พร้อมทั้งทำให้เกิดการจ้างงาน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญรุดหน้าอย่างก้าวกระโดด
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเชฟรอนสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกว่า 17.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต รวมทั้งผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวรวมกว่า 1,065 ล้านบาร์เรล (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565) เพื่อนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและเป็นเชื้อเพลิงให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนของประเทศ ตลอดจนเป็นพลังงานที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนไทยนับล้าน
เส้นทางสู่ผู้นำเทคโนโลยีที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้วงการพลังงาน
เชฟรอนไม่เคยหยุดยั้งในการพัฒนาและนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในประเทศไทย เพื่อเอาชนะสภาพทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย พร้อมคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเทคโนโลยีสำคัญมากมายที่เชฟรอนได้พัฒนา อาทิ การขุดเจาะหลุมน้ำมันในแนวนอน (horizontal monobore oil well) หลุมแรกในอ่าวไทย รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในการขุดเจาะ จากเดิมที่ใช้เวลาขุดหลุมละกว่า 60 วัน สามารถลดเหลือเพียง 6 วัน เป็นต้น
ล่าสุด บริษัทฯ ได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงานของแท่นผลิต ที่เรียกว่า “Integrated Operations Center” หรือ IOC ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการนำ Control room นอกชายฝั่งของแหล่งผลิตกลางอ่าวไทยทั้ง 3 แห่ง คือ เบญจมาศ ไพลินเหนือ และไพลินใต้ มารวมไว้ที่สำนักงานกรุงเทพฯ ทำให้สามารถควบคุมและสั่งการระบบการผลิตซึ่งห่างออกไป 300 กิโลเมตรได้ โดยคนบนฝั่งสามารถทำงานร่วมกับพนักงานนอกชายฝั่งได้แบบ real-time ตลอด 24 ชั่วโมง โดยถือได้ว่าเป็นการสร้างโมเดลการทำงานรูปแบบใหม่ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อไปในอนาคต
เส้นทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำและอนาคตของสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
สำหรับทิศทางต่อจากนี้ เชฟรอนมุ่งขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และลดความเข้มข้นของคาร์บอนในการดำเนินงาน พร้อมมองหาพลังงานที่สะอาดขึ้น สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลก อีกทั้งในฐานะองค์กรระดับโลก เชฟรอนยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกลาง โดยเฉพาะ Chevron New Energies (CNE) ทำให้สามารถเข้าถึงทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีระดับโลกด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตลอดจนมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีตอบโจทย์ความยั่งยืน อาทิ เทคโนโลยี Carbon Capture, Utilization and Storage หรือ CCUS นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการวางแผนนำร่องใช้พลังงานหมุนเวียน โดยติดตั้งโซลาร์เซลล์หรือนำพลังงานลมมาใช้ที่แท่นผลิตในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย
“เราเชื่อว่าทิศทางของโลกต่อจากนี้ จะมุ่งหน้าสู่การมองหาพลังงานที่สะอาดขึ้น โดยเราพร้อมสนับสนุนประเทศไทยอย่างเต็มที่ในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ผ่านการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในทุกย่างก้าว เราจึงตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั่วโลกภายในปี 2593 โดยการที่จะเดินหน้าสู่ความสำเร็จได้นั้น ปัจจัยด้านนโยบายภาครัฐและความร่วมมือจากพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ช่วยเร่งกระบวนการต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายได้ ” นายชาทิตย์ กล่าว
นอกจากนี้ เชฟรอนยังได้ปรับนโยบายในการลดปริมาณความเข้มข้นของคาร์บอนจากการปฏิบัติงาน ผ่านกลยุทธ์ Clean Operations Strategyใน 3 ด้าน ได้แก่ Energy Efficiency - ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์เครื่องจักร Flare and Vent – ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงด้วยกระบวนการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และ Feasibility Study – ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดหาพลังงานที่สะอาดขึ้น
เส้นทางพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคมไทย
สำหรับเส้นทางตลอด 60 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือเจตนารมณ์ของเชฟรอนในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยโครงการส่วนใหญ่เชฟรอนได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในระยะยาว เพราะทุกเส้นทางจะไปถึงจุดหมายไม่ได้หากขาดพลังแห่งการร่วมแรงร่วมใจในทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ เชฟรอนได้ดำเนินกว่าหลายร้อยโครงการเพื่อสังคมร่วมกับภาครัฐและพันธมิตรในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ โดยใช้กลยุทธ์ 4 E’s คือการศึกษา (Education) การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม (Environment & Energy Conservation) การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต (Economic Development) และการส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Employee Engagement)
Journey of the Legacy