ทช. ร่วมกับเชฟรอนประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8 ขาแท่น
เมื่อวันที่ 30 เม.ย.62 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอนประเทศไทย) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุ่มผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8 ขาแท่นไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้ร่วมลงนามประกอบด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และรองศาสตราจารย์ ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรม ทช. ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และคณะสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นายจตุพร อธิบดี ทช. กล่าวว่า “สำหรับบันทึกข้อตกลงฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือตามมติคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ(คณะกรรมการชาติฯ) ในการประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 เพื่อร่วมกันศึกษา ติดตาม และตรวจสอบสภาพแวดล้อมด้านกายภาพและนิเวศวิทยาของพื้นที่ในทะเล และประโยชน์ที่ได้รับจากแหล่งปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ของประเทศ รวมทั้ง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือในการสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนได้กำหนดขอบเขตความร่วมมือของทั้งสามฝ่ายในโครงการดังกล่าว แบ่งเป็นกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะเป็นผู้ดำเนินงาน กำกับการดำเนินงาน ติดตามประเมินและดูแลพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขออนุญาตจัดวางปะการังเทียมตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการชาติฯ ส่วนเชฟรอนประเทศไทยจะเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับกรม ทช. พร้อมทั้งมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วจำนวน 8 ขาแท่น ให้แก่กรม ทช. เพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุในการจัดทำเป็นปะการังเทียม รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านการจัดวางและงบประมาณของโครงการฯสำหรับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการและสนับสนุนงานด้านการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาการของทั้งในและต่างประเทศ”
ด้าน นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลา 56 ปี ของการดำเนินภารกิจจัดหาพลังงานอย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ให้กับประเทศ เรายังมุ่งมั่นเป็นพันธมิตรที่ดีกับสังคมไทยในทุกๆ ด้าน รวมถึงการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินโครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการศึกษา จะช่วยให้ได้ข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม มาจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของประเทศอย่างยั่งยืน โดยการลงนามฯ ร่วมกันในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย มาใช้เป็นปะการังเทียม เนื่องด้วยลักษณะโครงสร้างที่ซับซ้อนทำจากเหล็กกล้าที่จัดสร้างเพื่อใช้งานในทะเล มีน้ำหนักประมาณ 300 – 700 ตัน จึงมีความมั่นคงแข็งแรง ที่สำคัญไม่มีส่วนใดสัมผัสปิโตรเลียมมาก่อน มีพื้นที่ลงเกาะสำหรับสิ่งมีชีวิต จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่อาศัยและที่หลบภัยของสิ่งมีชีวิต โดยดำเนินการในพื้นที่เกาะพะงัน ซึ่งเคยมีโครงการต้นแบบในการวางโครงสร้างเหล็ก ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในพื้นที่อ่าวโฉลกหลำ ของเกาะพะงัน มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ซึ่งพบว่าความเหมาะสมของในการเข้าอยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว และการประมง ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ พื้นที่จัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมของโครงการนำร่องในระยะแรกนี้ มีพื้นที่ประมาณ 0.07 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากเกาะพะงันไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทางประมาณ 8 ไมล์ทะเล และจากหินใบไปทางตะวันออกประมาณ 7 ไมล์ทะเล”
สำหรับการดำเนินโครงการนี้แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยในระยะแรกซึ่งใช้เวลา 2 ปี จะเป็นการศึกษาทางด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา การติดตามผลกระทบจากการวางปะการังเทียม การประกาศพื้นที่คุ้มครองเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน รวมถึงการให้ความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่จะช่วยกันรักษาพื้นที่คุ้มครองนี้ ส่วนระยะที่สอง ซึ่งใช้เวลา 4 ปี จะเป็นการติดตามต่อเนื่องจากระยะแรกเพื่อเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาอยู่อาศัยในแนวปะการัง และการเข้าใช้ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย ภายใต้วงเงินสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ทั้งสิ้น 34.8 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการวางแผน และการเคลื่อนย้ายขาแท่นหลุมผลิตเพื่อนำไปทำปะการังเทียม)
ด้าน รศ. ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “ศูนย์บริการวิชาการจุฬาฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ จากการจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้ว บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการศึกษา ติดตาม และตรวจสอบสภาพแวดล้อมด้านกายภาพและนิเวศวิทยาของพื้นที่ในทะเล และประโยชน์ที่ได้รับจากแหล่งปะการังเทียม และร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผลจากการศึกษานี้จะมีส่วนช่วยให้หน่วยราชการและหน่วยงานวิชาการ ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนงานและการจัดการปะการังเทียมไม่เพียงเฉพาะจากโครงสร้างขนาดใหญ่เท่านั้น แต่อาจรวมถึงการจัดการในภาพใหญ่ระดับประเทศด้วย”