ข่าวประชาสัมพันธ์ “ตามรอยพ่อฯ” ปี 7 ชู “วนเกษตร” ฟื้นฟูต้นน้ำป่าสัก ที่ จ.เลย
เลย – 1 สิงหาคม 2562 – โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 7 จัดกิจกรรมรณรงค์เต็มรูปแบบ 4 วัน ที่ จ.เลย นำการทำ “วนเกษตร” หรือ การเกษตรในพื้นที่ป่า ที่เน้นการสร้างหลุมขนมครกบนพื้นที่สูงมาใช้ เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยมี บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เป็นภาคีหลักในการขับเคลื่อน ร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนไทยทั่วประเทศร่วมสานต่อศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป ภายใต้แนวคิด "แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี" ของโครงการฯ ในปีที่ 7 ได้จัดกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการปั่นรณรงค์ระยะทาง 45 กม.จากศาลากลาง จ.เลย สู่วัดป่าประชาสรรค์ อ.วังสะพุง กิจกรรมเอามื้อสามัคคีใน 2 พื้นที่ คือ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง และไร่นาป่าสวนขุนเลย อ.ภูหลวง และกิจกรรมทัศนศึกษา สักหง่า ป่าต้นน้ำป่าสัก อ.ภูเรือ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “6 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ สามารถสร้างรูปธรรมตัวอย่างความสำเร็จและเกิดการขยายผลออกไปอย่างกว้างขวาง ในปีที่ 7 นี้ เราได้มาที่จ.เลย เพราะเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสัก และเป็นจังหวัดแรกๆ ที่ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติขึ้น กิจกรรมที่ จ.เลย มีเป้าหมาย คือ การขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา อันเป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ในการแก้ปัญหา ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน ที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานไว้ให้”
“ทั้งนี้ พื้นที่ต้นน้ำป่าสักนี้ส่วนใหญ่เป็นภูเขา กิจกรรมจึงเน้นการทำวนเกษตร ที่ให้ความสำคัญกับการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้ใช้สอยต่างๆ ให้เป็นองค์ประกอบหลักของไร่นาผสมผสานกับการปลูกพืชชั้นล่างที่ไม่ต้องการแสงแดดมาก หรือได้อาศัยร่มเงาและความชื้นจากการที่มีพืชชั้นบนขึ้นปกคลุม รวมทั้งการจัดองค์ประกอบการผลิตทางการเกษตรให้มีความหลากหลายชนิดของพืชและสัตว์ ที่ จ.เลย เป็นการปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยปลูกแทรกระหว่างไม้ยืนต้นต่างๆ”
“กิจกรรมเอามื้อใน 2 พื้นที่นี้ จึงเน้นสร้างหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง เพื่อสร้างแหล่งน้ำ ทำฝายชะลอน้ำ ปลูกป่า 5 ระดับ เพาะกล้าไม้และสมุนไพร ขุดนาขั้นบันได ขุดคลองไส้ไก่ ทำแฝกเสริมไผ่ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และดำนาปลูกข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่เกือบจะสูญพันธุ์แดงเมืองเลย” ดร.วิวัฒน์ เสริม
ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ เชฟรอนประเทศไทย กล่าวถึงกิจกรรมว่า ป่าต้นน้ำใน จ.เลยมีความสำคัญมาก เพราะเป็นป่าต้นน้ำที่อยู่ในลุ่มน้ำป่าสักซึ่งมีความลาดชันสูง ทำให้เกิดน้ำท่วมน้ำแล้งได้ง่าย จึงเป็นลุ่มน้ำที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใย อันเป็นที่มาของโครงการฯ ในปี 2556
“ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่ขาดแคลนทรัพยากร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ดินดีอุดมสมบูรณ์ แต่คนยังขาดองค์ความรู้และการจัดการที่ดี โครงการฯ จึงจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ศาสตร์พระราชาให้เกิดการลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรายังมีเวลาเหลืออีก 3 ปี จึงเป็นช่วงที่ต้องเร่งเครื่อง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งองคาพยพ จากนั้นค่อยต่อยอดเรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือของเครือข่ายที่เข้มแข็งทุกภาคส่วน ทำให้เชื่อมั่นว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง”
“นอกจากนี้ เชฟรอนยังสนับสนุนโครงการ ‘ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ’ ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เน้นการอบรมและจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีใน 7 จังหวัดของลุ่มน้ำป่าสัก ตั้งแต่ปี 2557-2563 รวม 7 ปี โดยมุ่งหวังให้เกษตรอินทรีย์กลายเป็นกระแสหลักที่เกษตรกรต้องหันมาลงมือทำ จนขยายตัวไปให้ครบทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศในเร็ววัน” นายอาทิตย์กล่าว
นายแสวง ดาปะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เจ้าของไร่นาป่าสวนขุนเลย เล่าถึงเป้าหมายของพื้นที่นี้ว่า “ต้องการให้เป็นพื้นที่ขยายแนวความคิดเรื่องการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สู่เพื่อนเกษตรกรด้วยกันในพื้นที่ป่าต้นน้ำ และแลกเปลี่ยนเรื่องการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากป่า เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งต้องทำควบคู่กัน”
นายศาสนา สอนผา ผู้จัดการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เมืองเลยได้เปรียบเรื่องความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลาย สามารถเพาะปลูกพืชจากทุกภูมิภาคในประเทศไทยได้ ขณะเดียวกันก็มีพืชสมุนไพรบางชนิดที่ปลูกในเมืองเลยได้เท่านั้น มีพืชสมุนไพรหอม เช่น ไม้แข้ ไม้จวง เปราะหอม ใช้ทำเครื่องหอมได้ ทางศูนย์ฯ จึงได้สนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกพืชสมุนไพร ประกอบกับทางอภัยภูเบศรได้เข้ามารับซื้อสมุนไพรอินทรีย์จากชาวบ้าน ทางศูนย์ฯ จึงทำหน้าที่ส่งเสริมให้มีการแปรรูป เพื่อเพิ่มรายได้ โดยเน้นการปลูกแบบผสมผสานภายในแปลงเดียวกัน เพื่อสร้างความหลากหลายและหยุดใช้สารเคมี เนื่องจากเคยพบว่า ทุกคนในชุมชนมีสารเคมีในเลือดแม้แต่เด็กเล็ก จากการซื้ออาหารกินในตลาด จึงเร่งทำเรื่องอาหารปลอดภัย โดยให้สร้างแหล่งอาหารในพื้นที่ตัวเอง เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย”
ทั้งนี้ โครงการยังคงมุ่งแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการ ดิน น้ำ ป่า ตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อหยุดท่วมหยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน และขยายผลสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ ผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมได้ทาง https://ajourneyinspiredbytheking.org