ข่าวประชาสัมพันธ์ เชฟรอน-สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง-สจล. จัด “เอามื้อสามัคคี” จ.สระบุรี ยกหมู่บ้านสุขสมบูรณ์ เป็น “ชุมชนกสิกรรมวิถี”
สระบุรี – 25 สิงหาคม 2561 – บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน จัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ครั้งที่ 3 ในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 6 ที่หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ต.หนองหัวโพ อ.หนองแซง จ.สระบุรี สานฝันสมาชิกหมู่บ้านที่เกิดจากคนหลากหลายอาชีพรวม 15 ครอบครัว สร้างหมู่บ้านสุขสมบูรณ์เป็น “ชุมชนกสิกรรมวิถี” พร้อมถ่ายทอดตัวอย่างความสำเร็จเป็น “ชุมชนต้นแบบ” สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วประเทศร่วมสานต่อศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดงาน กล่าวว่า “ชุมชนกสิกรรมวิถี เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนหลากหลายอาชีพที่มีแนวคิดและอุดมการณ์เดียวกัน สร้างชุมชนพอเพียงที่พึ่งตนเองได้แม้ยามเกิดภัยพิบัติ โดยนำแนวคิดเรื่องทฤษฎีใหม่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพภูมิสังคม ด้วยการทำกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมี หันกลับมาพึ่งพาตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมา เพื่อเน้นการทำเกษตรแบบยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย”
การรวมกลุ่มของสมาชิกหมู่บ้านสุขสมบูรณ์ อ.หนองแซง จ.สระบุรี 15 ครอบครัว เพื่อสร้างชุมชนกสิกรรมวิถี เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และเป็นพื้นฐานของการสหกรณ์ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ที่ได้พระราชทานแก่ผู้นําสหกรณ์ทั่วประเทศเมื่อครั้งเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2526**
“หากดำเนินงานได้ตามแนวพระราชดำรัส หมู่บ้านสุขสมบูรณ์จะเป็น ‘ชุมชนกสิกรรมวิถี’ ที่ยั่งยืนในอนาคต และเป็นชุมชนต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วประเทศสานต่อศาสตร์พระราชาต่อไปไม่สิ้นสุด” ดร. วิวัฒน์กล่าว
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แกนนำภาคเอกชน กล่าวว่า “ในปีที่ 6 ของการดำเนินโครงการฯ เรายังคงยึดแนวคิด ‘แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ ในการจัดกิจกรรมใน 4 พื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี สระบุรี และน่าน ซึ่งแต่ละแห่งมีสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อจะได้สร้างต้นแบบที่หลากหลาย เป็นแรงบันดาลใจต่อไปในทุกกลุ่มสังคมในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ โดยกิจกรรมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก อันเป็นลุ่มน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยมากที่สุด เพราะเป็นลุ่มน้ำที่มีความลาดชันสูง จัดการได้ยาก ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้เกิดโครงการฯ นี้”
ทั้งนี้ จ.สระบุรี เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ให้สร้างหลุมขนมครกเพื่อหยุดท่วม หยุดแล้ง มาตั้งแต่การดำเนินโครงการในปีแรก และขยายผลออกไปยังลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ ทำให้เกิดพื้นที่และคนต้นแบบมากมาย อาทิ อ.บุญล้อม เต้าแก้ว แห่งสวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี ซึ่งเป็นตัวอย่างของผู้ที่ใช้ศาสตร์พระราชาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และปัจจุบันท่านเป็นคณะทำงานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ศาสตร์พระราชา
เชฟรอนให้การสนับสนุนโครงการฯ อย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 6 เนื่องจากตรงกับนโยบายด้านสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้พึ่งพาตนเองได้ โดยทำโครงการนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 9 ปี เท่าที่ผ่านมาโครงการฯ ประสบความสำเร็จพอสมควร มีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นหลายแห่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เชฟรอนจะยังทำงานร่วมกับพันธมิตร พร้อมทั้งเรียนรู้ระหว่างทางไปตลอดว่าต้องทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ นอกจากนี้ เชฟรอนยังจะมองหา “คอขวด” หรืออุปสรรคต่อการพัฒนา เพื่อเข้าไปช่วยแก้ไขต่อไป
คอขวดระยะแรก คือ ประชาชนขาดการตระหนักรู้ จากเดิมที่มีคนที่สนใจเพียงกลุ่มเล็กๆ เชฟรอนได้เชิญดาราเข้าร่วมโครงการเพื่อสร้างจุดสนใจ ทำให้โครงการฯ เป็นที่รับรู้มากขึ้น และเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
คอขวดในระยะที่สอง คือ การขาดแคลนวิทยากร เนื่องจากมีคนสนใจอยากลงมือทำมากขึ้น จึงต้องเพิ่มจำนวนศูนย์เรียนรู้ เพิ่มการเรียนการสอน เพิ่มวิทยากร สร้างคน เพื่อให้สามารถออกแบบและอบรมคนได้อย่างเพียงพอกับความต้องการ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่มีคนให้ความสนใจมากมาย
หลังจากนั้น ต้องมีการขับเคลื่อนระดับชาติ เพื่อให้เกิดการยอมรับมากขึ้นทั้งในวงการวิชาการและอื่น ๆ เชฟรอนจึงได้สนับสนุน ให้สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ทำวิจัยที่มีผลทางวิชาการยืนยันชัดเจนว่า ศาสตร์พระราชาช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจริง ทั้งมิติด้านสภาพแวดล้อม คือ ดินดี มีแหล่งน้ำ และผลผลิตที่มากขึ้น มิติด้านสังคม คือ การได้กลับมาเป็นครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา และมิติด้านเศรษฐกิจ คือ ปลดหนี้ได้ สร้างรายได้ พึ่งพาตนเองได้
นายอาทิตย์กล่าวเสริมว่า “เราแก้ปัญหาเป็นเปลาะๆ ไม่มีสูตรตายตัว แต่เชื่อว่ามาถูกทางแล้ว และเราอยากสนับสนุนให้เกิดผลจริง สำหรับพนักงานเชฟรอนที่มาเป็นจิตอาสา บางคนก็นำไปทำในพื้นที่ของตนเองควบคู่ไปกับการทำงานประจำ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายท่านที่เกษียณแล้ว ได้นำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด และบอกต่อกับญาติพี่น้องให้ลงมือทำตามศาสตร์พระราชาด้วย”
กิจกรรมเอามื้อสามัคคีครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กิจกรรมเอามื้อ หรือการลงแขกที่หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ จ.สระบุรี เพื่อสร้างชุมชนกสิกรรมวิถีตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีพนักงานเชฟรอนกว่า 200 คน เข้าร่วมด้วย และยังมีเครือข่ายคนมีใจจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และผู้ที่สนใจสมัครผ่านทางเฟซบุ๊คโครงการ รวมทั้งสิ้นกว่า 1,000 คนเข้าร่วมกิจกรรม
นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์จาก “ป่าสักโมเดล” ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จัดตั้งขึ้นในปีที่ 4 ของการดำเนินโครงการ ณ ห้วยกระแทก หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี มายังที่หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ รวมระยะทาง 60 กม. เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่การเรียนรู้วิถีพอเพียงตามรอยพ่อ โดยมีเครือข่าย นักปั่นสะพานบุญ ชมรมจักรยานทีมรบพิเศษ นักปั่นในพื้นที่ และนักปั่นเชฟรอนอีกรวมทั้งสิ้นกว่า 400 คน
สำหรับแนวคิดในการออกแบบพื้นที่ 47.5 ไร่ ของหมู่บ้านสุขสมบูรณ์ นายบุญล้อม เต้าแก้ว คณะทำงานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เครือข่ายภาควิชาการกล่าวว่า “การออกแบบพื้นที่หมู่บ้านสุขสมบูรณ์เป็นไปตามวัตถุประสงค์และความต้องการของสมาชิกแต่ละคนว่ามีเป้าหมายอย่างไรและอยากจะทำอะไร เรานำองค์ความรู้เรื่องหลุมขนมครกมาช่วยออกแบบ ให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งแต่ละแปลงจะขุดบ่อของตัวเองเพื่อกักเก็บน้ำ นอกจากนี้เรายังจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางที่จะต้องใช้ร่วมกันด้วย เช่น ถนนทางเข้า คูน้ำ คันดิน เป็นต้น”
“สำหรับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะได้เรียนรู้หลักการออกแบบพื้นที่ตามหลักภูมิสังคม โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เข้าใจถึงวิธีการปรับปรุงบำรุงดิน ทำปุ๋ยแห้ง แบบไม่พลิกกลับกอง และทำปุ๋ยน้ำนม ด้วยฮอร์โมนนมซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากในพื้นที่ นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกันปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทำฝายชะลอน้ำด้วยกระสอบและไม้ไผ่ และสร้างระบบนิเวศและแหล่งอาหาร ด้วยการดำนา ปั้นหัวคันนาทองคำ ทำกระชังเลี้ยงกบและทำแซนวิชปลาในนาข้าว” นายบุญล้อม กล่าวเพิ่มเติม
บอย-พิษณุ นิ่มสกุล นักแสดงหนุ่ม หนึ่งในสมาชิกหมู่บ้านสุขสมบูรณ์ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการร่วมรณรงค์และทำกิจกรรมกับโครงการฯจากจุดเริ่มต้นและต่อเนื่องถึง 4 ปีเต็ม จนเกิดแรงบันดาลใจในการสานต่อศาสตร์พระราชา และลงมือทำจริงในพื้นที่ของตัวเอง กล่าวว่า “จากการได้เข้าร่วมรณรงค์และร่วมทำกิจกรรมกับโครงการฯ มาตั้งแต่ปีแรกๆ ผมซื้อที่ดินและทำตามศาสตร์พระราชาที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งค่อนข้างไกลและผมก็ไม่ค่อยมีเวลาไปดูแลมากนัก พอดี อ.บุญล้อมเห็นว่าผมอยากจะมีพื้นที่ปลูกป่า ทำหลุมขนมครก จึงชักชวนให้มาร่วมกันสร้าง ‘ชุมชนกสิกรรมวิถี’ ที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ผมก็ตอบรับทันทีเพราะอยู่ตรงนี้ใกล้กรุงเทพฯ ใกล้ อ.บุญล้อม และมีเพื่อนบ้านที่มีแนวคิดเดียวกัน การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนดีตรงที่ไม่โดดเดี่ยว มีอะไรก็ปรึกษากันได้ ช่วยเหลือกันได้ เป้าหมายของชาวหมู่บ้านสุขสมบูรณ์ คือ ปลูกป่าทำพื้นที่ให้เป็นสีเขียว ขุดหลุมขนมครก ให้มีน้ำใช้ยามแล้ง เป็นชุมชนกสิกรรมวิถีต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น เพื่อขยายองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาต่อไป”
หลังจากนี้ โครงการฯ จะเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยส่งเสริมให้ประชาชนลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน ในวันที่ 26-28 ตุลาคม 2561 นำโดยบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน และสุดาพร พรหมรักษา เจ้าของพื้นที่บ้านน้ำปี้ ต.น้ำมวบ อ.เวียงสา จ.น่าน ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทางเฟซบุ๊ค พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน
หมายเหตุ
** พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ที่ได้พระราชทานแก่ผู้นําสหกรณ์ทั่วประเทศเมื่อครั้งเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ความว่า
‘...คำว่า สหกรณ์ แปลว่า การทํางานร่วมกัน การทํางาน ร่วมกันนี้ลึกซึ้งมาก เพราะว่าจะต้องร่วมมือกันในทุกด้าน ทั้งในด้านงานการที่ทําด้วยร่างกาย ทั้งในด้านงานการที่ทําด้วย สมอง และงานการที่ทําด้วยใจ ทุกอย่างนี้ขาดไม่ได้ต้องพร้อม งานที่ทําด้วยร่างกาย ถ้าแต่ละคนทําก็เกิดผลขึ้นมาได้ เช่น การทําเพาะปลูกก็มีผลขึ้นมา สามารถที่จะใช้ผลนั้นในด้านการบริโภคคือ เอาไปรับประทานหรือเอาไปใช้ หรือเอาไปจําหน่ายเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงชีพได้ ถ้าแต่ละคนทําไปโดยลําพังแต่ละคน งานที่ทํานั้นผลอาจจะไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และอาจจะไม่พอเพียงในการเลี้ยงตัวเอง ทําให้มีความเดือดร้อน ฉะนั้นจะต้องร่วมกัน แม้ในขั้นที่ทําในครอบครัวก็จะต้องช่วยกัน ทุกคนในครอบครัวก็ช่วยกันทํางานทําการ เพื่อที่จะเลี้ยงครอบครัวให้มีชีวิตอยู่ได้ แต่ว่าถ้าร่วมกันหลายๆคนเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็สามารถที่จะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถ มีผลได้มากขึ้น...’