ข่าวประชาสัมพันธ์ กรมทะเลฯ จับมือเชฟรอนและจุฬาฯ จัดวางขาแท่นเป็นปะการังเทียมครั้งแรกในไทย สร้างความสมบูรณ์ให้ท้องทะเลไทย จ.สุราษฎร์ธานี

ภาพการดำเนินกิจกรรมการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียม

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอนประเทศไทย) และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) ดำเนิน “โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี” (โครงการฯ) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย การจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม (ขาแท่นฯ) ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม ซึ่งเมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา ทช. พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์และติดตามการวางขาแท่นฯ ที่ 4 และคาดว่าจะจัดวางแล้วเสร็จทั้งหมด 7 ขาแท่นภายในเดือนกันยายน 2563


ตามที่คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ มีมติเห็นชอบในหลักการในการจัดทำโครงการฯ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ทั้งสามหน่วยงานจึงร่วมมือกันดำเนินงานภายใต้โครงการดังกล่าว เพื่อร่วมกันศึกษา ติดตาม และตรวจสอบสภาพแวดล้อมด้านกายภาพและนิเวศวิทยาของพื้นที่ในทะเล และประโยชน์ที่ได้รับจากแหล่งปะการังเทียมจากขาแท่นฯ ที่ไม่ใช้งานแล้ว ให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงความอุดมสมบูรณ์

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า “ประเทศไทยได้มีการศึกษาเรื่องการใช้โครงสร้างเหล็กชนิดเดียวกับขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียมบริเวณอ่าวโฉลกหลำของเกาะพะงันตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 พบว่ามีความเหมาะสม สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตต่างๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งประมง สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติเป็นจำนวนมาก จึงนำมาสู่การดำเนินโครงการนี้ ซึ่งทาง ทช. จะเป็นผู้กำกับการดำเนินงาน ติดตาม ประเมิน และดูแลพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่เชฟรอนประเทศไทย ได้ส่งมอบขาแท่นฯ ที่ไม่ใช้งานแล้วจำนวน 7 ขาแท่นให้แก่ ทช. เพื่อนำไปจัดวางเป็นปะการังเทียม รวมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการ โดยทาง จุฬาฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาทางวิชาการด้านกายภาพและนิเวศวิทยาของพื้นที่ รวมถึงการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาการของทั้งในและต่างประเทศ”

ขาแท่นฯ ที่นำมาจัดวางนี้มีความสูง 70-84 เมตร เมื่อวางล้มในแนวนอนจะมีความสูงประมาณ 20-22.5  เมตร และเมื่อวางขาแท่นฯ ที่ระดับน้ำ 38.5-39.5 เมตร จะทำให้มีความสูงของยอดกองปะการังถึงผิวน้ำไม่น้อยกว่า 15 เมตร เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ ซึ่งการนำขาแท่นฯ จากแหล่งผลิตกลางอ่าวไทยมาจัดวางเป็นปะการังเทียมบริเวณเกาะพะงัน มีระยะทาง 150-200 กิโลเมตร เคลื่อนย้ายด้วยเรือยกขนาดใหญ่ที่มีสมรรถนะในการยกมากถึง 3,000 ตัน หรือ มากกว่า 4-8 เท่าของน้ำหนักขาแท่นจริง จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทำงาน

“มั่นใจได้ว่ากองปะการังเทียมจากขาแท่นฯ นี้ จะเป็นที่อยู่อาศัยของปะการังและสัตว์น้ำวัยอ่อนหลากหลายสายพันธุ์  นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มแหล่งดำน้ำใหม่ๆ ในเขตน้ำลึก ซึ่งจะเป็นจุดรองรับเรือทัวร์ของนักท่องเที่ยวจากเกาะพะงัน เกาะสมุย และเกาะเต่าในอนาคตที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และยังช่วยลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดำน้ำในแนวปะการังธรรมชาติด้วย โดย ทช. ได้เตรียมออกประกาศให้พื้นที่จัดวางปะการังเทียมดังกล่าวเป็นพื้นที่คุ้มครอง เพื่อให้เกิดการจัดการและการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ดังกล่าวอย่างเหมาะสมทั้งในด้านการประมง และการท่องเที่ยวต่อไปด้วย ทั้งนี้ ด้านการเคลื่อนย้ายขาแท่นฯ มีการกำกับโดยทีมวิชาการของ ทช. และหน่วยงานภาครัฐในทุกขั้นตอน และทีมงานของบริษัทเชฟรอนก็ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในระดับสากล” นายโสภณ กล่าวเสริม

นายโสภณ ทองดี (ขวา) อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายอรรจน์ ตุลารักษ์ (ซ้าย) ผู้จัดการแผนกรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เลิกใช้งานในกิจการปิโตรเลียม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นำคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสังเกตการณ์และติดตามการวางขาแท่นที่ 4 ในพื้นที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี

อรรจน์ ตุลารักษ์ ผู้จัดการแผนกรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เลิกใช้งานในกิจการปิโตรเลียม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ระบุว่า “บริเวณแท่นผลิตปิโตรเลียมเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรทางทะเล ซึ่งในปัจจุบันขาแท่นฯ ทำหน้าที่เสมือนปะการังเทียมอยู่แล้ว เพราะมีโครงสร้างซับซ้อนและมีความทนทาน เหมาะในการลงเกาะของปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นอย่างดี การย้ายขาแท่นฯ เพื่อมาจัดวางเป็นปะการังเทียมในบริเวณที่ใกล้กับชายฝั่งมากขึ้น ซึ่งห่างจากเกาะพะงันไปเพียง 7.5 ไมล์ทะเล (15 กิโลเมตร) จะทำให้เกิดประโยชน์ในหลายด้านทั้งการเพิ่มพูนทรัพยากรทางทะเล และเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนทางด้านการท่องเที่ยวและการประมง โดยตลอดระยะการดำเนินงาน เชฟรอนให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยตลอดจนการปกป้องทรัพยากรและระบบนิเวศวิทยาทางทะเล รวมถึงมีแนวทางการปฏิบัติงานที่เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของประเทศไทยและสากล”

ทั้งนี้ ภายหลังจากจัดวางขาแท่นฯ เป็นปะการังเทียมครบทั้ง 7 ขาแท่น ทาง ทช. ร่วมกับ เชฟรอนประเทศไทย และจุฬาฯ จะร่วมกันศึกษาและติดตามประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการฯ ต่อไปเป็นระยะเวลาอีก 2 ปี นำความรู้ที่ได้มาถอดบทเรียนตามมาตรฐานวิชาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจากการจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นฯ และช่วยในการวางแผนงานและจัดการทรัพยากรจากโครงสร้างขนาดใหญ่ในระดับประเทศ