ข่าวประชาสัมพันธ์ บทพิสูจน์ปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียม ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ท้องทะเลไทย

Rigs-to-Reefs
การพัฒนาแหล่งปะการังเทียมใต้ทะเลของประเทศไทยเริ่มดำเนินมามากกว่า 20 ปี สามารถสร้างระบบนิเวศปะการังแห่งใหม่ในหลายพื้นที่ ด้วยรูปแบบของวัสดุที่ใช้ในการจัดทำปะการังเทียมในปัจจุบันมีความหลากหลายและสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่าง รวมถึงการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมเพื่อการจัดวางเป็นปะการังเทียม (Rigs-to-Reefs) ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ โดยได้จัดวางบริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแห่งแรก ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยกทีมลงพื้นที่ติดตามสถานภาพแหล่งปะการังเทียม เผยความสำเร็จและชื่นชมผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งอนุรักษ์ทางทะเลและแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้ พร้อมสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมมือพันธมิตรเร่งถอดบทเรียนติดตามผลกระทบทุกมิติอย่างใกล้ชิดต่อไป 
Rigs-to-Reefs

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ว่า ตนได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงหาแนวทางในการยกระดับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปะการังของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืน โดยจากการรายงานและภาพถ่ายใต้น้ำของทีมสำรวจล่วงหน้าที่มาดำน้ำสำรวจพื้นที่จัดวางปะการังเทียม โดยใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จำนวน 7 ขาแท่น ตนรู้สึกพอใจมากกับสภาพระบบนิเวศใหม่ ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งระบบนิเวศปะการังที่สมบูรณ์และสวยงาม สามารถเป็นแหล่งอนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

Rigs-to-Reefs

“อย่างไรก็ตาม ตนได้ย้ำกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงรวมถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบ พร้อมให้ถอดบทเรียนจากผลการปฏิบัติงานครั้งนี้ และขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่อื่นต่อไป นอกจากนี้ อยากให้มีการศึกษาเทคนิค เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยในการพัฒนางานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผสานองค์ความรู้ทางวิชาการ และความร่วมมือของพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนและเร่งรัดการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์” นายวราวุธ กล่าว

Rigs-to-Reefs

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า “การดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการจัดวางเป็นแหล่งปะการังเทียม ได้เริ่มดำเนินมานับสิบปี จัดวางปะการังเทียมไปแล้วกว่า 150,000 แท่ง สร้างแหล่งปะการังแห่งใหม่ใต้ท้องทะเลกว่า 36,000 ไร่ สำหรับพื้นที่บริเวณพื้นที่ปะการังเทียมขาแท่นหลุ่มผลิตปิโตรเลียม บริเวณพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้งนี้ ภายหลังการวางขาแท่นเป็นแหล่งปะการังเทียมแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2563 กรม ทช. ได้ประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 และจะสิ้นสุดการบังคับใช้วันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นการห้ามการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงทุกชนิด ห้ามดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ หรือการกระทำที่อาจมีผลกระทบต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตในบริเวณดังกล่าว เพื่อช่วยเร่งการเกาะตัวของปะการังอ่อนและสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยเสมือนแหล่งอนุบาลสัตว์ใต้ทะเล ซึ่งทำให้การเกิดแหล่งปะการังใหม่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่และทีมนักวิชาการ ร่วมกับสถาบันวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกมิติ ทั้งนี้ กรม ทช. ได้เตรียมแผนประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามมาตรา 22 ต่อไป”

Rigs-to-Reefs

นายอรรจน์ ตุลารักษ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายโครงการร่วมทุน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนบริษัทเชฟรอน และบริษัทผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จของโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียม ที่ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ สามารถใช้ประโยชน์ขาแท่น เป็นบ้านให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ซึ่งจากการสำรวจหลังการจัดวางปะการังเทียม พบการเข้าอยู่อาศัยของประชากรปลาที่หนาแน่นขึ้น และมีความหลากหลายของชนิดปลาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังพบการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเกาะติดที่ดีบริเวณของขาแท่น ตลอดจนผลการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณกองปะการังเทียมอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงเชื่อมั่นว่า กองปะการังเทียมแห่งนี้จะช่วยสร้างประโยชน์ด้านฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญให้กับชาวประมงในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้ในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ เชฟรอน ยังคงทำงานร่วมกับ ทช. และจุฬาฯ อย่างใกล้ชิด โดยจะร่วมจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้สนับสนุนงานศึกษาวิจัยของโครงการฯ ต่อไป”

Rigs-to-Reefs

ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงเวลา 1 ปีหลังการจัดวางปะการังเทียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ติดตามและสำรวจเพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบอื่นๆ ต่อระบบนิเวศใต้ทะเล สรุปเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก รวมถึงได้สำรวจสภาพเศรษฐกิจและสังคมแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง ซึ่งจะสรุปภาพรวมของผลการดำเนินงานใน 5 มิติใหญ่ ๆ คือ ด้านสภาพแวดล้อมทางทะเล ด้านการสำรวจปลาในพื้นที่โครงการฯ ด้านการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเกาะติด ด้านการเคลื่อนตัวของโครงสร้างปะการังเทียม และด้านการเข้าใช้ประโยชน์ของชุมชน ทั้งนี้ ทางจุฬาฯ จะดำเนินการสำรวจเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ต่อไป ตามกรอบการดำเนินงาน 2 ปีหลังจากจัดวางปะการังเทียม ในช่วงเดือนกันยายน 2565 และคาดว่าจะทราบผลการสำรวจในช่วงต้นปี 2566” ดร. ศุภิชัย กล่าวในที่สุด

Lear
ผลการศึกษาด้านวิชาการ หลังจัดวางปะการังเทียม 1 ปี

การเข้าอาศัยของสัตว์ทะเล
พบความหลากหลายของปลาเพิ่มขึ้นจาก 15 ชนิด เป็น 47 ชนิด และมีการเข้ามาอยู่อาศัยของปลาหนาแน่นขึ้นจาก 97 ตัว/100 ตร.ม. เป็น 215 ตัว/100 ตร.ม.
พบปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลาในครอบครัวปลาหางแข็ง ปลาสีกุน ครอบครัวปลากล้วย ครอบครัวปลากะพง และครอบครัวปลากะรัง เป็นต้น พบปลาแนวปะการัง เช่น ปลาผีเสื้อ และปลานกขุนทอง เป็นต้น

การฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเกาะติด โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนขาแท่นที่เดิมอยู่เหนือระดับน้ำทะเล (ส่วนบนสุด 5 เมตร) - พบสิ่งมีชีวิตจำพวก เพรียงหิน เพรียงหัวหอม ไฮดรอยด์ บริเวณพื้นเหล็กเกือบเต็มทั้งพื้นที่
ส่วนขาแท่นที่เคยอยู่ใต้น้ำแต่สัมผัสอากาศในระหว่างการเคลื่อนย้าย (45 เมตร) - พบสิ่งมีชีวิตบางประเภทลงเกาะในบริเวณดังกล่าว เช่น ไฮดรอยด์ เพรียงหิน และกัลปังหา
ส่วนขาแท่นที่เคยอยู่ใต้น้ำ (ส่วนล่างสุด 25 เมตร) - พบการรอดชีวิตของสิ่งมีชีวิตของกลุ่มปะการังอ่อนและกัลปังหามากกว่า 70% เช่น ปะการังอ่อน ปะการังถ้วยส้ม ปะการังดำ เป็นต้น ในภาพรวม พบพื้นที่ปกคลุมของปะการังอ่อนและกัลปังหารวม 20-30% % ของพื้นที่ขาแท่น

ผลสำรวจความพึงพอใจของประชากร 800 ตัวอย่าง 
ภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางมาก เนื่องจากเห็นประโยชน์ของการเพิ่มพูนทรัพยากรสัตว์น้ำ และส่งเสริมการท่องเที่ยวดำน้ำในอนาคต

Rigs-to-Reefs
Rigs-to-Reefs
Rigs-to-Reefs